วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

การป้องกันการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

 
การป้องกันการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

            ทนาย คลายทุกข์ขอนำข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เผย แพร่ทางอินเตอร์เน็ตมาฝากเพื่อนสมาชิกได้รับทราบข้อมูลกฎหมายทรัพย์สินทาง ปัญญา

ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งเป็นประเด็นแต่อย่างใด โดยเฉพาะในต่างประเทศอย่าง กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของอังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกามีอายุร่วมร้อยปีมาแล้ว เมื่อมาถึงยุคอินเทอร์เน็ต ปัญหาการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร, เครื่องหมายการค้า (ส่วนใหญ่ในกรณีพิพาทเรื่องโดเมนเนม) หรือ ความลับทางการค้า ก็ตามที ดูเหมือนจะกลับมาเป็นปัญหาให้เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และนักกฎหมายต้องมาขบคิดกันอีกครั้งว่า มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ปรับใช้ หรือให้ความคุ้มครองเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้เพียงพอหรือไม่

ถ้ากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถปรับใช้กับกรณีการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีความคลุมเครือในตัวบทกฎหมาย เป็นต้นว่า ไม่สามารถตีความให้ครอบคลุมถึงการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ได้ เราก็ต้องมาพิจารณากันว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะมีกฎหมายใหม่ในลักษณะเฉพาะ (sui generis) มาใช้กับทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต

นอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว มาตราการป้องกันการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทางเทคนิค หรือ Technological Solutions ก็เป็นประเด็นหลักในทางปฏิบัติ ที่เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหาทางป้องกันการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาจากผู้ที่ไม่ได้อนุญาต (unauthorized use) โดยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แน่นอนว่า วิธีนี้สะดวก รวดเร็ว กว่าการรอรัฐบาลออกกฎหมายใหม่มาให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะดังกล่าว

เนื่องจากการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตมาหลายลักษณะ และเกี่ยวข้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาหลายเรื่อง ในบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงมาตรการในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้จะกล่าวถึงการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ เช่น กรณีเครื่องหมายการค้ากับโดเมนเนม หรือ ความลับทางการค้าในโอกาสหน้า

ประเด็นหลักที่จะพิจารณาในเรื่องการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต มีดังต่อไปนี้

เหตุผลในการมีมาตรการพิเศษในการป้องกันลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต
ข้อพิจารณามาตรการป้องกันทางกฎหมาย
มาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางเทคนิค กฎหมายที่ใช้การพิจารณาประเด็นข้างต้น เป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลในการมีมาตรการพิเศษในการป้องกันลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต  เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้การผลิตงานพิมพ์ งานเขียนเป็นไปได้เร็วขึ้น เพียงแต่กดปุ่ม ทำซ้ำ "copy" หรือ ใช้วิธีตัดแปะ "cut and paste" ผลงานที่เกิดจากการทำซ้ำ โดยคอมพิวเตอร์นั้นเหมือนงานต้นฉบับมาก เกือบจะไม่มีความแตกต่างกับต้นฉบับเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันราคาถูกลงมาก ประชาชนในฐานะปานกลางสามารถหาซื้อมาใช้ได้ นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กังวลใจเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ ผลงานสร้างสรรค์ถูกจัดเก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Form อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกลักลอบ นำไปทำซ้ำได้ง่าย

แต่ที่เป็นปัญหามากกว่านั้น ก็คือ ความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต ช่วงปี 1994- ปัจจุบัน ทำให้เกิดการเผยแพร่งานสร้างสรรค์โดยมิได้รับอนุญาต ทางอินเทอร์เน็ตมากมาย เพราะอินเทอร์เน็ต เป็นเสมือนพาหนะ หรือสื่อที่นำงานสร้างสรรค์ไปสู่ผู้ติดต่อกับเครือข่ายอย่างไม่จำกัดเขตแดนทางกายภาพ อย่างที่เราเรียก อินเทอร์เน็ตอีกอย่างว่า เครือข่ายของหลาย ๆเครือข่าย (Networks of Networks) การส่งต่อข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นไปในลักษณะจากหลายจุด ไปสู่อีกหลาย หลายจุด (many to many) ซึ่งต่างจาก การเผยแพร่ของวิทยุ หรือ โทรทัศน์ซึ่งเป็นไปในลักษณะจุดเดียว ไปสู่หลายจุด หรือหลายผู้รับ (one to many)

ดังนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการทำซ้ำ และศักยภาพในการเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ของอินเทอร์เน็ตในลักษณะไร้เขตแดน ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นไปได้ง่ายทั้งในการทำและการเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ถูกสร้าง และถูกเก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ลองพิจารณาดูว่า นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันนี้ แทบจะไม่ได้ใช้ปากกาเขียนหนังสือ หากแต่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ ใช้ PDA (Personal Data Assistance) หรือ ปาร์ม (Palm Pilot) ในการจดบันทึกย่อ ในธุรกิจบันเทิง บันทึกเพลง หรือ ภาพยนตร์ลงในซีดี หรือ ดีวีดี ก็อยู่ในรูปดิจิตอล ซึ่งคงอีกไม่นาน เราคงจะได้ดูทีวี ซึ่งโปรแกรมและถ่ายทอดในระบบดิจิตอล ที่เรียกว่า Digital TV ดังนั้น เราจะพบว่า งานสร้างสรรค์ต้นฉบับในปัจจุบัน นั้นพร้อมตลอดเวลาที่จะถูกทำซ้ำ เนื่องจากการเป็นข้อมูลดิจิตอลในตัวงานนั้น ๆ เอง

แม้บางท่านอาจโต้แย้งว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็จัดเก็บงานเขียน หรือ ภาพวาดของเราไว้ในรูปกระดาษเหมือนเดิม จะได้ไม่ถูกลักลอบเอาไปทำซ้ำ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลอีกเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีของการทำซ้ำนั้นกว้าหน้ากว่ามาก เช่น สแกนเนอร์ (Scanners) เพียงแค่การนำงานเขียนที่บันทึกอยู่ในกระดาษมาทำการสแกน ก็กลายเป็นว่า งานสร้างสรรค์ของเราถูกทำซ้ำ และจัดเก็บในรูปดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลข้างต้นก็เป็นที่มาของมาตรการพิเศษทางกฎหมาย และทางเทคนิค ที่ต้องการจะปกป้องสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเผยแพร่งานของตนทางอินเทอร์เน็ต หรือ จัดเก็บงานของตนในรูปดิจิตอล มิให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง 4 เรื่องหลัก ดังนี้

1. The No Electronic Theft Act 1996 (the NET Act)
2. Digital Millennium Copyright Act 1998 (DMCA)
3. Anti- Circumvention and Anti-Trafficking Rules เป็นมาตรการหนึ่งใน DMCA
4. Copyright Management Information Rules (CMI) เป็นส่วนหนึ่งของ DMCA

The No Electronic Theft Act 1996 (the NET Act)

กฎหมายฉบับนี้ ได้ออกมาเพื่อปิดช่องว่างทางกฎหมาย ที่มีอยู่ในกฎหมายลิขสิทธิ์เดิมของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปรากฎว่า ในคดี United States v. LaMacchina 871 F. Supp. 535 (D. Mass.1994) จำเลยในคดีนี้ได้ทำการสนับสนุนให้ ผู้ใช้กระดานอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า Bulletin Board ใช้พื้นที่ในกระดานในการติดประกาศ ข้อความ ความคิดเห็น หรือ งานอื่นๆ งานหรือข้อความเหล่านี้ภายหลังถูกย้ายไปสู่กระดานอิเล็กทรอนิกส์ อีกแห่งหนึ่ง

ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้อีนสามารถดาวน์โหลดข้อความ หรือ งานที่ติดบนกระดานได้ ข้อเท็จจริงปรากฎว่า สิ่งที่ติด หรือโพส (post or upload) ในที่นี่เป็นซอฟแวร์ที่ไม่รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ LaMacchina ซึ่งเป็นเจ้าของเว๊บไซต์ได้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทั่วไป ดาวน์โหลดเกมส์อันละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพียงแต่สมาชิกต้องสมัครเพื่อรับพาสเวิร์ดในการเข้าสู่ระบบ (Access requires passwords) ในคดีนี้ ศาลยกฟ้องในประเด็น ความผิดฐานฉ้อโกง ตาม กฎหมาย the Federal Wire-Fraud Statute เนื่องจากว่าขาดองค์ประกอบความผิดในทางอาญา ในกรณีที่จำเลยไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์ทางการเงิน กับการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ตามคดีนี้ จำเลยต้องรับผิดทางอาญาอันเกี่ยวด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจกท์เท่านั้น

ช่องว่างทางกฎหมายในกรณีการทำซ้ำ หรือเผยแพร่งานอันละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่แสดงหากำไร หรือ ทำเพื่อการค้า ก็ได้ถูกปิด โดยมาตรการทางกฎหมายตาม The NET Act ไปแล้ว โดยกฎหมายดังกล่าว กำหนดว่า ผู้ใดละเมิดลิขสิทธิ์โดยจงใจ โดยการทำซ้ำหรือเผยแพร่ ทั้งนี้รวมทั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในระยะเวลา 180 วันสำหรับการทำซ้ำจำนวนหนึ่งสำเนา หรือมากกว่านั้น ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ อันมีมูลค่ามากกว่า $1,000 ให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางอาญา การละเมิดกฎหมาย The NET Act มีโทษทั้งจำคุก หนึ่งปีและปรับไม่เกิน $100,000


Digital Millennium Copyright Act 1998 (DMCA)
DMCA เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี กฎหมายของสหรัฐอเมริกาฉบับนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ซับซ้อน และเป็นบทบัญญัติใหญ่ ซึ่งในที่นี้ เราจะพิจารณาเพียงสองสามประเด็นที่สำคัญตามบทบัญญัติใน DMCAเท่านั้น สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย DMCA นี้เพื่ออนุวัติการสนธิสัญญา สองฉบับซึ่งเจรจาในเดือนธันวาคม 1996

โดยองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (the World Intellectual Property Organization or WIPO) โดยที่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสนธิสัญญา และ DMCAในฐานะกฎหมายอนุวัติการมิได้มุ่งเน้นเรื่องสิขสิทธิ์โดยตรง หากแต่ว่า มุ่งที่จะพัฒนามาตรการทางเทคโนโลยี เพื่อให้ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับผลงานสร้างสรรค์ ในยุคดิจิตอลนี้ ทั้งนี้รวมถึงการความเชื่อถือได้ของการจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ (the integrity of copyright management)

ประเด็นหลักประการที่สอง ในDMCA คือ การจัดการกับปัญหาความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Providers or ISPs) ในกรณีมีการละเมิดลิขสิทธิ์ จากการให้บริการส่งต่อ จัดเก็บข้อมูลให้ลูกค้าของตน DMCA ได้ให้ความคุ้มกันความรับผิดแก่ ISPs ในกรณีผู้ให้บริการของ ISPs ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ISPs มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการเพื่อปกป้องสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นเจ้าของงานสร้างสรรค์ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตด้วย

อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่า DMCA มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนามาตรการทางเทคนิค ที่ให้ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ บัญญัติเรื่อง การห้ามการเจาะระบบป้องกันการทำซ้ำ (Anti Circumvention) และการต่อต้านการลักลอบค้า (Anti Trafficking) งานอันละเมิดลิขสิทธิ์ กลายเป็นเรื่องหลัก หรือตัวเอกใน DMCA ไป โดยมีบทบัญญัติหลักที่กำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องต่อไปนี้ ดังนี้


Section 1201(a)(1) การห้ามมิให้ทำการเจาะระบบป้องกันการทำซ้ำ เช่น การแครก (crack) หรือ แฮค (hack) ระบบป้องกันการทำซ้ำในซีดี หรือ ดีวีดี บทบัญญัตินี้เน้นเรื่อง ระบบควบคุมการเข้าถึง (access controls) งานอันมีลิขสิทธิ์ หรือการทำให้การทำซ้ำยากขึ้น เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการทำซ้ำ
Section 1201(2)(2) การต่อต้านการลักลอบทำซ้ำ (Anti trafficking) มุ่งเน้นเรื่อง access controls เช่นกัน
Section 1201(b)(1) การต่อต้านการลักลอบใช้ (Anti trafficking) มุ่งเน้นเรื่อง ป้องกันการใช้งานที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ (use controls)

DMCA ได้กำหนดโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา แก่ผู้ทำการอันละเมิดบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนั้นกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจแก่ศาล ในการใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง ในการออกคำสั่งยุติการกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ต่อไป หรือ การออกคำสั่งเรื่องค่าเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ การจงใจละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า หรือเพื่อการแสวงผลประโยชน์ทางการเงินของตนเอง อาจมีโทษหนักทางอาญา

การจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs)
DMCA มิได้ยกเว้นความรับผิดให้แก่ ISPs ทั้งหมด ISPs จะได้รับความคุ้มครองตามข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว ก็ต่อเมื่อได้กระทำการป้องกันสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่า ลูกค้าของ ISPs นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เสนอ หรือติดในระบบที่ดำเนินการโดย ISPs ซึ่ง ISPs มิได้รู้ว่า ข้อความหรืองานที่นำเสนอนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ กล่าวโดยทั่วไป ตาม DMCA แล้ว ISPs เช่นว่านั้น หามีความรับผิดไม่

อย่างไรก็ตาม หากว่า ISPs ได้รับการแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ ISPsจะต้องรีบทำการยกเลิก หรือ ป้องกันมิให้มีการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกกล่าวหา นอกจากนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์ ยังสามารถขอหมายศาล เพื่อให้ ISPs เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของ ISPs ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์ มาตรการดังกล่าวช่วยให้ เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวจริง ทั้งนี้ยังเป็นการป้องกันมิให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จากการอาศัยการเป็นบุคคล นิรนามในการทำความผิด

มาตรการการแจ้งและการลบ (Notice and Taking down Approach) ข้อความที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นงานอันละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายของประเทศอื่น ๆ นอกจาก DMCA ของสหรัฐอเมริกา หากท่านผู้อ่านสนใจในรายละเอียด โปรดพิจารณา มาตรา 4 ของ the European Directive on E-commerce focuses on Liability of intermediary service providers

การจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ (Copyright Management Information)
การจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์นี้ ถูกบัญญัติไว้ใน Chapter 12 ของ DMCA ข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะร่างบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้ทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีหลายประเภท ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันงานสร้างสรรค์ ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้นว่า เทคนิคการเข้ารหัส (encryption techniques) เพื่อทำการผสมข้อมูล (scrambling) ของงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพดิจิตอล, เพลง หรือ ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ เทคนิคดังกล่าวจะอนุญาตให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น จึงจะสามารถถอดรหัสได้ การเข้ารหัสดังกล่าวยังเป็นการทำให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวได้รับการรักษาความปลอดภัยจากผู้ที่พยายามเข้าถึงระบบ หรือ แฮคเอาข้อมูลไป ในระหว่างที่ข้อมูลถูกส่งจากเครือข่ายหนึ่งไปสู่อีกเครือข่ายหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต

นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคนิคควบคุมการเข้าถึงได้ (access controls) ระบบนี้อนุญาตให้ใครก็ตาม สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หากแต่มีการฝัง (embed) ข้อมูลพิเศษไว้ในข้อมูลนั้นๆ เป็นต้นว่า ลายเซ็นดิจิตอล ใช้ในการพิสูจน์ความแท้จริงของข้อมูล หรือ ไฟล์ ว่าเป็นงานที่ส่งมาจากผู้ส่งที่แท้จริงหรือไม่ และมิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้ "ซองจดหมายอิเล็กทรอนิกส์" (electronic envelops) ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์, ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์, วันที่สร้างสรรค์งาน, และ

 ข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตให้ใช้ ระบบป้องกันที่คล้ายกันอีกประเภท ก็เช่น การใช้ digital "watermarking" ซึ่งทำเป็นไฟล์พิเศษติดไปกับงานสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ว่าจะมีการพยายามทำซ้ำอย่างไร watermarks นี้ก็ไม่สามารถแยกออกจากงานดังกล่าวได้ วิธีนี้ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้ระบบการค้นหาที่เรียกว่า spiders หรือ robots ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของเซิร์ชเอนจิน (search engines) ในการค้นหางานของตนที่ถูก นำไปใช้ หรือทำซ้ำโดยมิได้รับอนุญาตได้ เพราะ spiders หรือ robots จะวิ่งไปหาข้อมูลที่มี watermarks ฝังอยู่

จะเห็นได้บทบัญญัติการจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ข้างต้น กฎหมายมีเจตนารมย์ที่จะให้ความคุ้มครอง มาตรการทางเทคโนโลยี ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ในการปกป้องสิทธิของตัวเอง ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในรูปแบบที่เพิ่มเติมพิเศษของงานสร้างสรรค์แต่อย่างใด DMCA เพียงแต่ทำให้ ความพยายามที่จะเจาะระบบป้องกันการทำซ้ำงานสร้างสรรค์กลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การละเมิดบทบัญญัติเช่นว่านี้ มีกำหนดโทษขั้นสูงทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ค่าปรับสูงถึง $500,000 และจำคุกสูงสุด ห้าปีสำหรับการกระทำผิดครั้งแรก

โดยรวมเราจะเห็นว่ามาตรการการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางกฎหมายนั้น ต้องมีทั้งมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด และมาตรการทางเทคนิคที่ประสิทธิภาพ ในการจัดการกับผู้กระทำผิด ในยุคดิจิตอล ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ ก็คือ ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการใช้มาตรการทางเทคนิคให้สัมฤทธิ์ผลในการป้องกันการลักลอบใช้ หรือลักลอบทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังเดินตาม

โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการกับข้อมูล ที่มีระบบป้องกันพิเศษ ทั้งนี้ก็คือด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้ารอให้รัฐออกกฎหมายที่มาจัดการกับกรณีเฉพาะทางเทคนิค ที่เกิดขึ้นทางอินเตอร์เน็ตทุกกรณีคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเอกชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน ส่วนกฎมายของรัฐจะออกมารับรอง หรือเพิ่มความคุ้มครองพิเศษให้กับมาตรการทางเทคนิคที่เอกชนนำมาใช้ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความกระตือลือร้นของแต่ละรัฐบาล ในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายกับเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน
ขอขอบคุณ  www.geocities.com  ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลสาธารณะ

6 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับเนื้อหาดีๆ

    ตอบลบ
  2. ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยคับ

    ตอบลบ
  3. เนื้อหามีสาระความรู้มาก ๆ

    ตอบลบ
  4. เป็นประโยชน์มาเลยครับ

    ตอบลบ
  5. มีสาระ และ เป็นบทความที่มีความรู้

    ตอบลบ
  6. อัยย๊ะ สาระดีๆ ล้วนๆ

    ตอบลบ